Hetalia: Axis Powers - France

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ตำนานเทพกรีก "เมดูซ่า"

เมดูซ่า

เมดูซ่าหนึ่งในอสูรกายกรีกที่โด่งดังไปทั่ว ถือว่าเป็นอสูรกายตนนึ่งที่หลายๆคนคงรู้จักเลยที่เดียว แต่ถ้าพูดถึงประวัติของเมดูซ่าบางคนอาจยังไม่ทราบประวัติของเธอ วันนี้เราจะมาดูประวัติของเธอกัน

หมายเหตุ*หลายๆอย่างอาจไม่เหมือนที่คนอื่นฟังมา เพราะเราฟังแต่ละเวอร์ชั่นไม่เหมือนกันนะคะ ถ้าผิดพลาดก็ขออภัยด้วยค่ะ



เมดูซ่าถือว่าเป็นอสูรกายที่ดูน่าสงสารตนหนึ่ง ก่อนหน้าที่เธอจะเป็นเมดูซ่าหัวงูน่ากลัวอย่างที่ทุกคนรู้จัก เธอมีหน้าตางดงามมาก่อน เป็นที่หมายปองของชายมากมาย จวนแล้ววันนึ่งที่เธอไปสักการะที่เทือกเขาเทพีอาเธน่าเธอได้พบกับเพโพไซดอน ด้วยหน้าตางดงามของเธอจึงทำให้เทพโพไซดอนหลงรักเข้าอย่างจัง โพไซดอนต้องการเมดูซ่ามาครอบครองจึงใช้กำลังข่มขืนเธอที่วิหารอาเธน่า เมื่ออาเธน่ารู้จึงใส่ความเธอว่าเมดูซ่า ดูหมิ่นและลบลู่เธอในวิหารศักดิ์สิทธิ์ อาเธน่าสาปให้เมดูซ่ามีหน้าตาหน้ากลัว ตามตัวมีเกล็ดงูและผมของเธอที่เคยสวยงามกลายเป็นผมที่มีงู

เมดูซ่าอับอายมาก จึงแอบหลบอยู่ในถ้ำ เธอแค้นเอาเสียมากๆ ความแค้นมันมีจนมากและล้น เธอโกรธจนทุกสิ่งมีชีวิตที่มองหน้าเธอจะกลายเป็นหิน เธอจึงกลายเป็นนางมารร้ายที่แข็งแกร่งและพลังรุนแรงอันดับต้นๆในตำนานกรีกเลยทีเดียว

แต่ถึงแม้ว่าส่วนอื่นๆจะเป็นงูไปหมดแล้วแต่เธอยังคงใบหน้าอันงดงามเอาไว้อยู่ บางตำนานก็เล่าว่าร่างกายส่วนล่างและศีษระของเธอก็กลายเป็นงู บ้างก็แค่ส่วนหัวอย่างเดียวส่วนล่างมีแค่เกล็ดของงูแต่ยังมีขาของมนุษย์คงไว้

สุดท้าย เมดูซ่าก็ตายด้วยมือของเพอร์ซีอุส เพอร์ซีอุสฆ่าเมดูซ่าโดยตัดหัวของเธอทิ้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนของอาเธน่า เธอให้เพอร์ซีอุสไปกำจัดเมดูซ่าแทนตน เพราะไม่อยากให้มือตนเปื้อนเลือดไปมากกว่านี้

หลังจากเมดูซ่าโดนตัดหัวออกมา เลือดของเธอก็หยดลงและกลายเป็นม้าบินเพกาซัสสีขาว ซึ่งนั้นคือลูกของเมดูซ่าและโพไซดอนนั้นเอง

เพิ่มเติม


*เพกาซัสเป็นม้าสีขาวมีปีกไม่มีเขา แตกต่างจากยูนิคอร์นที่มีเขาแต่ไม่มีปีก ส่วนม้าที่มีทั้งปีกและเขาเรียกว่าอัลลิคอร์น
*โพไซดอนคือเทพเจ้าแห่งท้องทะเล คลื่น พายุ ม้าและแผนดินไหว
*เมดูซ่าและอาเธน่าเป็นหนึ่งในสามลูกของเมทิส เจ้าแห่งสติปัญญา
*อาเธน่าเป็นเทพแห่งปัญญา สงคราม ความฉลาด

เมดูซ่า


อาเธน่า

โพไซดอน

เพกาซัส


ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะค่า
เครดิตทั้งหมดที่เราอ่านแล้วเอามาสรุปหรือรูปภาพอยู่ใต้นี้นะคะ!

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ฌัก-หลุยส์ ดาวีด

ฌัก-หลุยส์ ดาวีด

ฌัก-หลุยส์ ดาวีด (ฝรั่งเศสJacques-Louis David; 30 สิงหาคม ค.ศ. 1748 - 29 ธันวาคม ค.ศ. 1825) เป็นศิลปินในยุคนีโอคลาสสิก ที่มีชื่อเสียงในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสและยังเป็นจิตรกรในจักรพรรดินโปเลียนที่ 1

 

ประวัติ

ช่วงต้น

ฌัก-หลุยส์ ดาวีดเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยในปารีส เมื่อเขาอายุได้ประมาณเก้าขวบ พ่อของเขาก็เสียชีวิตลง แม่จึงพาไปอยู่กับลุงที่คณะสถาปนิก เขาเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยแห่งชาติ แต่เขาก็ไม่เคยเป็นนักเรียนที่ดีเลย เพราะดาวีดมักแอบวาดภาพในชั้นเรียนเสมอ สมุดเสก็ตของเขาเต็มไปด้วยภาพวาดและครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวว่า ผมมักจะซ่อนอยู่หลังเก้าอี้ และวาดภาพตลอดระยะเวลาาของชั่วโมงเรียน นอกจากนี้เขายังป่วยเป็นเนื้องอกบนใบหน้าซึ่งทำให้เขาพูดไม่ค่อยชัด
ในไม่ช้าเขาก็มีความต้องการจะเป็นจิตรกร แต่ลุงและแม่ของเขาคัดค้าน เนื่องจากต้องการให้เขาเป็นสถาปนิก ดาวีดเอาชนะคำคัดค้านเหล่านั้นและไปเรียนศิลปะกับจิตรกรที่มีชื่อเสียงขณะนั้นคือ ฟร็องซัว บูเช และได้รับการสนับสนุนจากบูเชมาตลอด ตอนอายุได้ 18 ปี บูเชส่งเขาไปเรียนกับโฌแซ็ฟ-มารี เวียง (Joseph-Marie Vien) จากนั้นเขาก็ได้เข้าเรียนที่ Royal Academy ของฝรั่งเศส ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
ดาวีดพยายามที่จะชนะการแข่งขันกร็องพรีเดอรอม ซึ่งเป็นทุนการศึกษาศิลปะของสถาบันการศึกษาแห่งฝรั่งเศส (French Academy) ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เขาล้มเหลวถึงห้าครั้งและทุกครั้งที่ล้มเหลวเขาก็จะผิดหวัง ครั้งหนึ่งเขาแพ้เพราะไม่ได้ปรึกษาเวียงผู้เป็นอาจารย์ และเป็นคณะกรรมการตัดสินในครั้งนั้นด้วย และเวียงมีความรู้สึกว่าการศึกษาสำหรับดาวีดนั้นสามารถรอได้ หลังจากพลาดโอกาสในปี ค.ศ. 1772 ดาวีดก็เขาร่วมการประท้วงอดอาหาร แต่เขาประท้วงได้เพียงสองวัน อาจารย์ของเขาก็เรียกเขาไปพบเพื่อสนับสนุนให้เขาวาดภาพต่อไป
เขายังคงศึกษาศิลปะ แม้จะล้มเหลวในการชนะกร็องพรีเดอรอม อีกครั้งในปีถัดมา แต่สุดท้ายปี ค.ศ. 1774 ดาวีดก็คว้ารางวัลชนะเลิศมาจนได้ ด้วยผลงาน Erasistratus Discovering the Cause of Antiochus' Disease โดยปกติแล้วผู้ที่จะสามารถเข้าศึกษาที่สถาบันการศึกษาฝรั่งเศสในกรุงโรมได้นั้นจะต้องเข้าโรงเรียนอื่นมาก่อน ทว่าสำหรับดาวีดเขาไม่ต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากเวียงอาจารย์ของเขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบันแห่งนี้ในปี ค.ศ. 1775 พอดี เขาจึงไปโรมพร้อมอาจารย์และเข้าศึกษาที่สถาบัน
เมื่ออยู่ในอิตาลีดาวีดได้ดูงานศิลปะคลาสสิกชิ้นสำคัญในสมัยโรมันและซากนครปอมเปอีที่เขารู้สึกเหมือนได้เติมเต็มความรู้สึกมหัศจรรย์ และทำให้เขาประทับใจ จนวาดภาพลงสมุดเสก็ตหมดไปถึง 12 เล่ม และดาวีดยังได้พบกับศิลปินยุคแรกเริ่มของยุคนีโอคลาสสิก คือ ราฟาเอล เมงส์ (Raphael Mengs) และเมงส์ได้แนะนำทฤษฎีการทำงานของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ โยฮันน์ โยอาคิม วิงเคิลมันน์ (Johann Joachim Winckelmann) ดาวีดได้เรียนรู้ถึงเทคนิคสำคัญและผลงานที่ได้รับการยกย่องทั้งของราฟาเอลและศิลปินคนอื่น ๆ จากการค้นหาประวัติศิลปินที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะในยุคคลาสสิก

ชีวิตการทำงาน

เมื่ออยู่ในโรงเรียน ดาวีดได้รับการยอมรับจากเพื่อนในโรงเรียนว่าเป็นอัจฉริยะ แต่เขาก็เป็นคนที่เพื่อนเข้าใจยากเช่นกัน ดาวีดอยู่ในโรมได้ 5 ปี เขาก็กลับไปยังปารีสและได้เป็นสมาชิกของ Royal Academy และในปี ค.ศ. 1781 เขาก็ส่งภาพสองภาพไปยังสถาบัน ภาพทั้งสองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงงานศิลปะประจำปี ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติอย่างมากสำหรับดาวีด และได้รับการยกย่องจากจิตรกรที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ทว่าการบริหารงานของคณะบริหารของสถาบันกลับเป็นศัตรูกับเด็กหนุ่ม หลังจากการแสดงงานศิลปะประจำปี กษัตริย์ให้สิทธิพิเศษแก่ดาวีดให้เขาสามารถพักในลูฟวร์ได้ ซึ่งเป็นความปรารถนาอย่างมากของศิลปินคนสำคัญ
ต่อมาเขาก็แต่งงาน และได้มีนักเรียนเป็นของตนเองประมาณ 40-50 คน และได้รับหน้าที่ให้วาดภาพ Horace de fended by his Father แต่ไม่นานเขาก็บอกว่า ถ้าไม่ใช่ในโรม ฉันไม่สามารถวาดคนโรมันได้ ดังนั้นผู้อุปการะของเขาจึงให้เงินเพื่อเป็นค่าเดินทางไปยังโรม ดาวีดเดินทางไปโรมพร้อมกับภรรยาและลูกศิษย์สามคน
ที่โรมในปี ค.ศ. 1784 ดาวีดได้วาดภาพ Oath of the Horatii และในปี ค.ศ. 1787 ดาวีดก็พลาดตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบันการศึกษาฝรั่งเศสที่โรม เพราะคณะกรรมการบอกว่าเขายังเด็กเกินไปที่จะทำงานนี้แต่พวกเขาก็บอกว่าจะสนับสนุนดาวีด ในปีเดียวกันนี้เองดาวีดก็ได้แสดงผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา Death of Socrates หรือความตายของโสกราตีส นักวิจารณ์ศิลปะเปรียบเทียบภาพการตายของโสกราตีสของดาวีดกับภาพ Sistine Ceiling ของมีเกลันเจโล และภาพ Stanze ของราฟาเอล หลังจากการแสดงงานนิทรรศการครั้งที่สิบสองของเขาว่า "สมบูรณ์แบบในทุกอย่าง" เดอนี ดีเดอโร (Denis Diderot) นักปรัชญาและนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า ดูเหมือนดาวีดเลียนแบบศิลปะปูนปั้นนูนต่ำของสมัยโบราณ และภาพวาดมีการสอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองในเวลานั้น แต่ภาพนี้ไม่ได้รับเกียรติจากงานนิทรรศการศิลปะประจำของ Works of Encouragement
สำหรับภาพวาดต่อมาในปี ค.ศ. 1789 ดาวีดสร้าง The Lictors Bring to Brutus the Bodies of His Sons งานชิ้นนี้เขียนก่อนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อสมัชชาแห่งชาติ (คณะปฏิวัติ) ได้รับการยอมรับและคุกบัสตีย์ถูกยึด ทางราชสำนักไม่ต้องการให้มีการเผยแพร่สิ่งใดที่จะเป็นการปลุกระดมประชาชน ดังนั้นภาพทั้งหมดจะต้องมีการตรวจสอบก่อนถูกนำขึ้นแขวน แม้แต่ภาพ Portrait of Lavoisierของนักเคมีและนักฟิสิกส์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฌากอแบ็ง (Jacobin) ก็ถูกห้ามนำแขวนด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อหนังสือพิมพ์รายงานว่ารัฐบาลไม่ได้อนุญาตให้แสดงภาพ The Lictors Bring to Brutus the Bodies of His Sons ของดาวีด ประชาชนก็ไม่พอใจอย่างมากและสุดท้ายราชวงศ์ได้ยินยอมให้แขวนภาพนี้ โดยดูแลความปลอดภัยจากนักเรียนศิลปะ

การปฏิวัติฝรั่งเศส

ในช่วงเริ่มต้นการปฏิวัตินี้ ดาวีดเป็นผู้สนับสนุนการปฏิวัติ เขาศรัทธาในรอแบ็สปีแยร์และสมาชิกของสมาคม ในขณะที่คนอื่นเดินทางออกจากเมืองเพื่อโอกาสที่ดีกว่า ดาวีดกลับอยู่ช่วยล้มล้างระบบเก่า เขาออกเสียงโหวตในที่ประชุมแห่งชาติสำหรับการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งไม่แน่ใจว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ ทั้งที่มีเขาจะมีโอกาสที่ดีมากมายภายใต้การปกครองของกษัตริย์มากกว่าระบบใหม่ บางคนแนะว่าความรักในยุคคลาสสิกของดาวีดทำให้เขายอมรับทุกสิ่งทุกอย่างในยุคสมัยนั้น รวมทั้งรัฐบาลระบอบสาธารณรัฐด้วย
ดาวีดเริ่มทำงานที่เป็นการกระตุ้นทางสังคม เขาได้วาดภาพบรูตัสที่จัดแสดงในละครเวทีเรื่อง Brutus ของวอลแตร์ซึ่งเป็นนักประพันธ์ของฝรั่งเศส และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คน ปี ค.ศ. 1789 ดาวีดพยายามที่จะสร้างเอกลักษณ์ของศิลปะในช่วงเริ่มยุคของการปฏวัติ โดยการวาดภาพ The Oath of the Tennis Court ภาพนี้เป็นภาพการสาบานร่วมกันของสมัชชาแห่งชาติที่ใช้สนามเทนนิสเป็นที่ประชุม
ปี ค.ศ. 1790 ดาวีดเริ่มเปลี่ยนแปลงแนวทางการวาดภาพ เขาวาดภาพเหตุการณ์สำคัญเป็นภาพประวัติศาสตร์ซึ่งจะนำออกแสดงที่งานนิทรรศการในปีต่อไป โดยใช้เทคนิคปากกาและหมึก ภาพแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของคนที่รักชาติ การทำงานศิลปะนี้เป็นตัวแทนของเหตุการณ์สำคัญ
ดาวีดรวมสัญลักษณ์ของการปฏิวัติมากมายและสร้างขึ้นมาเป็นภาพโดยลักษณะของภาพจะเหมือนพวกยุคคลาสสิกเป็นภาพแบบกรีก การแสดงภาพเขียนเพื่อเป็นสิ่งที่กระตุ้นผู้คนนั้นอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประชาสัมพันธ์ ในงานเทศกาลครบรอบการปฏิวัติระบอบพระมหากษัตริย์ ภาพ Hercules ได้เปิดเผยในการเดินขบวนต่อจากเลดีลิเบอร์ตี (มารียาน) เป็นสัญลักษณ์ความคิดของวิชาอุดมคติที่ถูกล้มล้างระบอบโดยใช้ภาพ Hercules เป็นสัญลักษณ์ ในคำพูดของเขาระหว่างที่ขบวนกำลังดำเนินไป เขากล่าวถึงพรรคฝ่ายค้านให้ความสำคัญระหว่างประชาชน และการปกครองที่มีพระมหากษัตรรย์ทรงเป็นประมุข หลังจากภาพ Hercules ได้รับการแต่งตั้งทำให้ความขัดแย้งนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น มันเป็นความคิดอุดมคติที่ดาวีดเชื่อมโยงกับ Hercules ของเขาที่เปลี่ยนจากสัญลักษณ์ของระบอบการปกครองเก่าเป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพของการปฏิวัติ ดาวีดหันไปเข้าเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจนิยม แต่เขาได้รับความชื่นชอบจากกษัตริย์ซึ่งมันเป็นสิ่งตรงข้ามของสัญลักษณ์ และภาพ Hercules ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมไปในที่สุด
หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกประหารชีวิต เมื่อ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ก็มีผู้ถูกลอบสังหารอีกคนโดยฝีมือองครักษ์เพื่อเป็นการแก้แค้นสำหรับการโหวตให้กับการประหารชีวิตกษัตริย์ ผู้ถูกสังหารคือ หลุยส์ มีแชล เลอ เปเลอตีเย เดอ แซ็ง ฟาร์โฌ (Louis Michel le Peletier de Saint Fargeau) ดาวีดถูกเรียกตัวไปในงานศพ และเขาได้วาด Le Peletier Assassinated เป็นภาพที่เขาถูกลอบสังหาร งานชิ้นนี้เป็นสิ่งสำคัญในอาชีพการงานของเขา เพราะเป็นงานชิ้นแรกของการปฏิวัติฝรั่งเศส
วันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1793 มารา เพื่อนของดาวีดถูกลอบสังหารโดยชาร์ล็อต กอร์แด ด้วยมีดที่เธอซ่อนไว้ในเสื้อผ้า เธอเข้าไปในบ้านของมาราโดยใช้ข้ออ้างว่าจะเสนอรายชื่อของคนที่เป็นศัตรูกับประเทศฝรั่งเศส มาราขอบคุณเธอและบอกว่าพวกเขาจะประหารชีวิตคนเหล่านั้นด้วยกิโยตีนในสัปดาห์ต่อไป กอร์แดก็แทงเขาทันที และเธอก็ถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา
กอร์แดเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามซึ่งชื่อปรากฏอยู่ในกระดาษข้อความของมาราใน ภาพการตายของมารา (The Death of Marat) ตามที่ดาวีดได้วาดเอาไว้ บางทีภาพนี้อาจเป็นภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของดาวีด จนได้รับการเรียกว่า "ปีเอตาของการปฏิวัติ" (Pietà of revolution) หลังจากการประหารชีวิตของกษัตริย์หลุยส์ สงครามระหว่างสาธารณรัฐใหม่และประเทศมหาอำนาจในยุโรป ดาวีดได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการความมั่นคงทั่วไป (Committee of General Security) คณะกรรมาธิการเข้มงวดมากเมื่อมีการให้ประหารมารี อ็องตัวแน็ต ดาวีดได้เป็นคนที่วาดภาพบันทึกเหตุการณ์ถูกประหารของนาง
ดาวีดจัดงานเทศกาลครั้งสุดท้ายของเขาเป็นการจัดงานครั้งใหญ่ที่สุด เป็นเทศกาลแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่ออย่างแรงกล้า และเขาก็ตัดสินใจที่จะสร้างศาสนาใหม่ผสมความคิดทางศีลธรรมกับสาธารณรัฐบนพื้นฐานความคิดของรูโซและรอแบ็สปีแยร์ ในฐานะพระชั้นสูงองค์ใหม่ ในไม่ช้าสงครามเริ่มเป็นไปด้วยดี กองทหารฝรั่งเศสเดินทางข้ามตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ แต่เกิดภาวะเร่งด่วนเพราะผู้คุมศูนย์กลางของกองทัพมีจำนวนไม่มาก แล้วในที่สุดกองทัพก็พ่ายแพ้ในสงคราม ดาวีดก็ถูกจับกุมในฐานะที่เป็นคนร่วมขบวนการนี้ด้วย และขณะที่อยู่ในเรือนจำนั้นเขาได้วาดภาพเหมือนของตนเอง

หลังการปฏิวัติ

หลังจากภรรยาของเขามาเยี่ยมในเรือนจำ เขาได้เกิดความคิดที่จะบอกเล่าเรื่องราวของ Sabine Women โดยเป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่เข้ามาระหว่างนักรบที่กำลังต้อสู้กัน ภาพวาดนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นเกียรตแก่ภรรยาของเขา
ดาวีดคิดสไตล์ใหม่สำหรับการวาดภาพนี้ซึ่งเขาเรียกว่า "แบบอย่างกรีก" เมื่อเทียบกับ "แบบอย่างโรมัน" ภาพวาดของเขาก่อนหน้านี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการทำงานของนักประวัติศาสตร์โยฮันน์ โยอาคิม ในคำพูดของดาวีดเขากล่าวไว้ว่า ลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของผลงานชิ้นเอกของกรีกมีความเรียบง่าย สง่างามและความยิ่งใหญ่ในความเงียบที่แสดงออกมาก่อให้เกิดความประทับใจ และงานนี้ยังนำเขาไปสู่ความสนใจของนโปเลียน
ดาวีดมีความเลื่อมใสในตัวนโปเลียนตั้งแต่ครั้งแรกที่พบตั้งแต่สมัยที่นโปเลียนยังไม่ได้เป็นจักรพรรดิ และนโปเลียนเองก็ชื่นชอบในตัวดาวีดอย่างมากทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดาวีดเข้ามาเป็นจิตรกรประจำราชสำนัก และขอให้ดาวีดไปอียิปต์ด้วยกันในปี ค.ศ. 1798 แต่ดาวีดปฏิเสธ โดยอ้างว่าเขาแก่เกินไปสำหรับการผจญภัยและส่งนักเรียนของตนไปแทน
หลังจากที่รัฐประหารของนโปเลียนประสบความสำเร็จ นโปเลียนก็ให้ดาวีดรับหน้าที่วาดภาพของพระองค์ขณะที่ข้ามภูเขาแอลป์ เพื่อแสดงถึงความกล้าหาญและชัยชนะของพระองค์ ในที่สุดดาวีดก็กลายเป็นจิตรกรของราชสำนักอย่างเป็นทางการ ภาพที่วาดนั้นคือ Napoleon at the Saint-Bernard Pass และนโปเลียนก็ควบคุมการเขียนภาพนี้ด้วยตนเอง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวากซ้ำหลายครั้ง

ถูกเนรเทศและความตาย

เมื่อราชวงศ์บูร์บงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง หลังจากจักรพรรดินโปเลียนเสื่อมอำนาจ ดาวีดก็อยู่ในรายชื่อของผู้ปฏิวัติในอดีตที่โหวตให้มีการปลดและประหารชีวิตกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 กษัตริย์บูร์บงพระองค์ใหม่หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 พระราชทานอภัยโทษให้แก่ดาวีด และให้เขามาเป็นจิตรกรของราชสำนัก แต่ดาวีดปฏิเสธและเนรเทศตัวเองไปอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ที่นั่นเขาได้ฝึกฝนงานศิลปะและเขายังมีอิทธิพลต่อศิลปินบรัสเซลส์ เช่น ฟร็องซัว-โฌแซ็ฟ นาแวซ และอีญัส บริส เขาอาศัยอยู่เงียบ ๆ กับภรรยาในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตของเขา ในเวลานั้นเขาได้วาดภาพฉากที่เป็นตำนานและรูปประชาชนของกรุงบรัสเซลส์ และภาพที่เกี่ยวกับนโปเลียน เช่น Baron Gerard
ดาวีดสร้างงานในช่วงสุดท้ายของเขาที่ใช้เวลาอันยาวนาน นั่นคือ ภาพ Mars Being Disarmed by Venus and the three Graces ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1822-1824 ในเดือนธันวาคมของปีค.ศ. 1823 เขาได้เขียนไว้ว่า "นี่คือภาพสุดท้ายของฉัน ฉันต้องการจะวาด แต่ฉันต้องการตัวเองเกินกว่าในภาพนี้ ฉันจะใส่วันที่ฉันอายุ 74 ปีเอาไว้ และหลังจากนั้นฉันจะไม่จับพู่กันของฉันอีกแล้ว" เมื่อวาดภาพเสร็จภาพได้แสดงครั้งแรกในกรุงบรัสเซลส์ ที่ปารีสนักศึกษาเก่าของเขาและผู้คนไปชมนิทรรศการ ทำให้ได้ผลกำไร 13,000 ฟรังก์หลังจากหักค่าใช้จ่าย
ดาวีดเสียชีวิตลงในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1825 เนื่องจากตอนที่เขากำลังจะออกจากโรงละครเกิดอุบัติเหตุรถปะทะกัน หลังจากเขาเสียชีวิตภาพวาดของเขาบางส่วนก็ถูกนำมาประมูล ร่างของเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ฝังในฝรั่งเศสด้วยเหตุผลที่ปลงพระชนม์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ร่างของจิตรกร ฌัก-หลุยส์ ดาวีด จึงถูกฝังอยู่ที่สุสานบรัสเซลส์ ในขณะที่หัวใจของเขาถูกฝังอยู่ที่ปารีส

ผลงานของฌัก-หลุยส์ ดาวีด

การทำงานระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส   ผลงานในช่วง ค.ศ. 1781-1799



David Stanisław Kostka Potocki.png   Jacques-Louis David, Le Serment des Horaces.jpg
David - The Death of Socrates.jpg 
Le Serment du Jeu de paume.jpg The Intervention of the Sabine Women.jpg


การทำงานในราชสำนักนโปเลียน มีหลายผลงานหลายทั้งตอนที่นโปเลียนยังเป็นนายพลและจักรพรรดิ

นโปเลียนขณะนำทัพรบกับอิตาลีโดยสามารถพิชิตเทือกเขาแอลป์โดยสลักชื่อว่า bornaparte ว่าเป็นหนึ่งในผู้พิชิตเทือกเขาแอลป์

ผลงานท้าย ๆ

Jacques-Louis David - Mars desarme par Venus.JPG

นโปเลียน โบนาปาร์ต



Full length portrait of Napoleon in his forties, in high-ranking white and dark blue military dress uniform. He stands amid rich 18th-century furniture laden with papers, and gazes at the viewer. His hair is Brutus style, cropped close but with a short fringe in front, and his right hand is tucked in his waistcoat.
รูป นโปเลียน โบนาปาร์ต
วาดโดย ฌัก-หลุยส์ ดาวีด
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 หรือ นโปเลียน โบนาปาร์ต (ฝรั่งเศสNapoléon Bonaparte เกิด 15 สิงหาคม พ.ศ. 2312 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2364) เป็นนายพลในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2342 (ค.ศ. 1799) และได้กลายเป็นจักรพรรดิ ของชาวฝรั่งเศสระหว่างปี พ.ศ. 2347 (ค.ศ. 1804) ถึง พ.ศ. 2357 (ค.ศ. 1814) ภายใต้พระนามว่า นโปเลียนที่ 1 ผู้ได้มีชัยและปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป และได้แต่งตั้งให้แม่ทัพและพี่น้องของเขาขึ้นครองบัลลังก์ในราชอาณาจักรยุโรปหลายแห่งด้วยกัน เช่น ราชอาณาจักรสเปน, เมืองเนเปิลส์ในราชอาณาจักรอิตาลี, แคว้นเวสต์ฟาเลียในราชอาณาจักรเยอรมนีราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และ ราชอาณาจักรสวีเดน 

นโปเลียนเกิดที่เมืองอาฌักซีโยหรืออายัชโช ในภาษาอิตาลี บนเกาะคอร์ซิกา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2312 (ค.ศ. 1769) ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 ปี ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ซื้อเกาะนี้ไปจาก สาธารณรัฐเจนัว พ.ศ. 2311 (ค.ศ. 1768)  ครอบครัวของเขาเป็นหนึ่งในตระกูลผู้ดีจำนวนน้อยนิดบนเกาะคอร์ซิก้า บิดาของเขาชื่อชาร์ลส์ มาเรีย โบนาปาร์ตหรือ การ์โล มาเรีย บัวนาปาร์เต (สำเนียงอิตาลี) ได้จัดการให้เขาได้เข้ารับการศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ที่เขาได้เข้าไปตั้งรกรากตั้งแต่อายุ 9 ขวบในตอนแรกเขาถูกมองว่าเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งภายหลังการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหาร ที่เมืองโอเติง บรีแอนน์ และ โรงเรียนทหารแห่งกรุงปารีส เขาก็ได้เข้าร่วมกองพลปืนใหญ่ ภายใต้กองกำลังของลาแฟร์ ที่เมืองโอซ็อนน์ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นร้อยตรีที่เมืองวาล็องซ์ ในปี พ.ศ. 2330ด้วยอารมณ์ที่ซ่อนเร้น ออกแนว โรแมนติก ในงานที่เขาเขียน ความอยากรู้อยากเห็นไม่มีที่สิ้นสุด บวกกับความทรงจำที่เป็นเลิศ ในปี พ.ศ. 2332 นโปเลียนหนุ่มมีความถนัดทางใช้สติปัญญามากกว่าทางใช้กำลัง
เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสประทุขึ้นในปี พ.ศ. 2332 ร้อยโทโบนาปาร์ตได้อยู่ในเหตุการณ์ที่กรุงปารีส โดยเป็นฝ่ายสังเกตการณ์ เขาได้เฝ้าดูประชาชนบุกพระราชวังตุยเลอรีด้วยความขยะแขยง นโปเลียนเดินทางกลับมายังเกาะคอร์ซิกาที่ซึ่งการสู้รบระหว่างฝ่ายต่างๆ เริ่มขึ้นอีกครั้ง (โดยมีทางฝ่ายของปาสกาล เปาลี สนับสนุนการนับถือราชวงศ์แบบอังกฤษ และทางตระกูลโบนาปาร์ตสนับสนุนการปฏิวัติ) นโปเลียนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าของกองกำลังป้องกันตนเองแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2335 โดยการแย่งเอากองกำลังจากคณะกรรมาธิการของรัฐมาส่วนหนึ่ง แต่การประหารกษัตริย์ได้ทำให้เกิดการต่อต้านของฝ่ายอิสระ สงครามกลางเมืองได้ประทุขึ้น และตระกูลของนโปเลียนต้องหลบหนีออกจากเกาะคอร์ซิกา มายังประเทศฝรั่งเศส
โบนาปาร์ตสนับสนุนการปฏิวัติ และได้ถูกส่งตัวไปรับตำแหน่งนายร้อยในกองพลปืนใหญ่ ที่ศูนย์บัญชาการเมืองตูลอง (Toulon) ในปี พ.ศ. 2336(ค.ศ. 1793) ซึ่งต่อมาได้ถูกมอบให้อังกฤษปกครอง แผนการที่นโปเลียนมอบให้ฌาคส์ ฟร็องซัวส์ ดูก็องมิเย ทำให้สามารถยึดเมืองตูลองคืนมาจากกองทัพกลุ่มสนับสนุนระบอบกษัตริย์และพวกอังกฤษได้ มิตรภาพระหว่างเขาพวกฌาโกแบงทำให้เขาถูกจับในช่วงสั้นๆ ภายหลังการล่มสลายของโรแบสปิแยร์ ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2337
หลังจากได้รับอิสรภาพ เขาก็ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ปราศจากผู้บังคับบัญชาอย่างเป็นทางการ และต่อมาปอล บาร์ราส์ ได้อนุญาตให้เขาบดขยี้กลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ที่ลุกฮือที่เมืองว็องเดแมร์ เพื่อต่อต้านสมัชชาแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2338 (ค.ศ. 1795) ในโอกาสนี้เอง โบนาปาร์ตได้มีนายทหารหนุ่มชื่อโจอาคิม มูราท์ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ปฏิบัติการประสบผลสำเร็จด้วยการยิงปืนใหญ่เข้าสลายกลุ่มสนับสนุนราชวงศ์ที่เมืองซังต์โรช์
โบนาปาร์ตมีจิตใจผ่องใส สามารถซึมซับความรู้ทางการทหาร รวมถึงยุทธวิธีในสมัยของเขา มาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จริง เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ในกองพลปืนใหญ่ เขาได้คิดค้นการใช้ปืนใหญ่แห่งกริโบวาลเป็นกองทัพเคลื่อนที่ ใช้หนุนกองทหารเดินเท้าอีกทีหนึ่ง


ปฏิบัติการในอิตาลี


เพื่อเป็นรางวัล ที่สามารถการนำกองพลปืนใหญ่ปราบกบฏฝ่ายฝักใฝ่กษัตริย์ได้ นโปเลียนได้รับการแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพแห่งกองกำลังอิตาลี เพื่อยึดอิตาลีกลับคืนมาจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ออสเตรีย-เยอรมัน) กองกำลังของเขาขาดแคลน ทั้งยุทโธปกรณ์และเสบียงคลัง ซึ่งแม้เขาจะอดมื้อกินมื้อ และแต่งตัวซอมซ่อ แต่ก็ได้ฝึกฝนนายทหารในบังคับบัญชาด้วยความขะมักเขม้น และสามารถนำทัพเข้าปะทะกับกองกำลังของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีจำนวนมากกว่า และมียุทโธปกรณ์พร้อมกว่าได้ ในการรบหลายต่อหลายครั้ง ในสมรภูมิที่เมือง มองเตอโนต โลดี หรือ อาร์โกล มีนโปเลียนเป็นผู้นำทัพด้วยตนเอง การรบท่ามกลางห่ากระสุนทำให้ มุยร็อง เพื่อนและผู้ช่วยของเขาเสียชีวิต นโปเลียนเป็นนายทหารฝีมือฉกาจ ผู้ซึ่ง อยู่ทุกหนทุกแห่งและมองเห็นทุกอย่าง ว่องไวดุจสายฟ้าแลบและโจมตีดุจสายฟ้าฟาด เขาเป็นที่เคารพนับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยความสามารถในการบัญชาการ ความกล้าหาญและความเลือดเย็น ในบรรดานายทหารหลายนายที่แวดล้อมเขา นโปเลียนได้มองเห็นความสามารถของนายทหารนิรนามคนหนึ่ง ชื่อลานน์
ตลอดการสู้รบในช่วงเวลานั้น ภาพวาดกองบัญชาการของนโปเลียนในสมัยนั้น ได้แสดงให้เห็นว่า นโปเลียนได้ใช้ระบบสื่อสารทางไกล ระบบแรกของโลกที่เรียกว่าโทรเลขที่คิดค้นโดยโกลด ชาปป์ (เช่นเดียวกับกองบัญชาการรบอื่น ๆ ในสมัยนั้น) นโปเลียนได้ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบัญชาการโดยอาร์ชดยุกชาร์ลส จำเป็นต้องลงนามในสนธิสัญญาที่เสียเปรียบ ที่มีชื่อว่าสนธิสัญญากัมโป-ฟอร์มิโอ ว่าด้วยเรื่องการให้ฝรั่งเศสเข้าครองเบลเยียม และยืดพรมแดนไปติดแม่น้ำไรน์ ส่วนจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ถือครองแคว้นเวเนเซีย


ปฏิบัติการในอียิปต์


ในปี พ.ศ. 2341 (ค.ศ. 1798) สมัชชาการปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศส ได้กังวลต่อกระแสความนิยมที่ประชาชนมีต่อนโปเลียนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงได้บัญชาการให้เขานำทัพบุกอียิปต์ โดยอ้างว่าฝรั่งเศสต้องการเข้าครองครองดินแดนตะวันออกใกล้ และตะวันออกกลางเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของอังกฤษไปยังอินเดีย เนื่องด้วยนโปเลียนชื่นชมยุคแสงสว่างอยู่แล้ว เขาจึงได้ตัดสินใจนำคณะนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาร่วมทัพไปกับเขาด้วย และจัดตั้งสถาบันอียิปต์ศึกษาขึ้น หนึ่งในเจ้าหน้าที่หนุ่มผู้ชาญฉลาดที่ร่วมเดินทางไปกับเขา ชื่อปิแอร์-ฟร็องซัวส์-ซาวิเย บูชาร์ด ได้ค้นพบศิลาจารึกแห่งโรเซตตา ที่ทำให้นักอียิปตวิทยา ฌอง-ฟรองซัวส์ ฌองโปลิยง สามารถถอดรหัสไฮโรกลิฟ ได้ในเวลาต่อมา
หลังจากที่มีชัยในการรบที่ มองต์ ตาบอร์ (ฝรั่งเศสต้องการยึดเมืองในอียิปต์คืนจึงรบกับตุรกีที่มีอังกฤษหนุนหลัง) เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2342 (ค.ศ. 1799) การเดินทัพต่อไปยังซีเรียของนโปเลียนต้องชะงักเนื่องจากการระบาดของกาฬโรค อันเป็นเหตุให้มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก นโปเลียนได้เข้าจัดการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อกาฬโรคที่เมืองจาฟฟาเท่าที่สามารถทำได้
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2341 (ค.ศ. 1798) นโปเลียนมีชัยต่อกองกำลังมาเมลุก (ทาสรับใช้กาหลิบของจักรวรรดิออตโตมัน) ในการรบที่พีระมิด ในสงครามเอ็มบาเบห์ ทำให้ชื่อของเขาขจรขจายไปไกล แต่การพ่ายแพ้ของเขากลับไม่เป็นที่กล่าวถึง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และ 2 สิงหาคมพ.ศ. 2341 (ค.ศ. 1798) ทัพเรือของฝรั่งเศสที่นำโดยนโปเลียนถูกกองเรือของโฮราชิโอ เนลสัน (ของอังกฤษ) ทำลายเกือบย่อยยับในการรบที่อ่าวอาบูกีร์
สถานการณ์ระหว่างนโปเลียนกับสมัชชาแห่งชาติดีขึ้น ทำให้เขาสละตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ให้กับฌอง-บัพติส เกลฺแบร์ และเดินทางกลับฝรั่งเศส ตลอดเส้นทางกลับกรุงปารีส นโปเลียนได้รับเสียงโห่ร้องชื่นชมจากประชาชนในฐานะวีรบุรุษ ส่วนฌอง-บัพติส เกลฺแบร์ ต้องพ่ายการรบเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2344 (ค.ศ. 1801) หลังจากเสียนายทหารไปกว่า 13,500 นาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของโรคระบาด

นโปเลียนเยือนผู้ป่วยกาฬโรคที่เมืองจาฟฟา วาดโดย อ็องตวน-จ็อง โกรส์


ก่อรัฐประหาร


เมื่อนายพลนโปเลียนเดินทางกลับมาถึงกรุงปารีส เขาได้เข้าพบปะสนทนากับตัลเลย์ร็อง ผู้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นักการเมืองผู้มีประสบการณ์ และผู้รู้เกมการเมืองเป็นอย่างดี เขาได้ช่วยเตรียมการก่อรัฐประหาร โค่นล้มระบอบปกครองโดยคณะมนตรี ที่กำลังอ่อนแอและประชาชนเกลียดชัง โดยการโน้มน้าวผู้แทนราษฎรเลือกรัฐบาลใหม่ บีบให้หัวหน้าคณะรัฐบาลเดิมลาออก แล้วเลือกหัวหน้ารัฐบาลใหม่เข้ามาแทน ประกอบด้วยบุคคลสามคนที่ปราศจากมลทิน อันได้แก่ เอ็มมานูเอล โฌแซฟ ซีแยส์ โรเฌ่ร์ ดือโกส์ (สมาชิกคณะมนตรีแห่งการปฏิวัติสองในจำนวนทั้งหมดห้าคน) และนโปเลียน ผู้ซึ่งได้รับความไว้วางใจ ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ นับตั้งแต่เขายอมไปออกรบที่อียิปต์ และกลับมาในฐานะวีรบุรุษ วัตถุประสงค์ของการก่อรัฐประหารครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้ฝ่ายปฏิรูปหัวก้าวหน้า (ที่ต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตรงข้ามกับพวกจาโคบังที่ยึดติดกับระบอบกษัตริย์) ว่าจะยังรักษาความมั่งคั่งไว้ได้ต่อไป และนโปเลียนที่เชื่อในระบอบสาธารณรัฐยอมก็เสี่ยงกับแผนการดังกล่าว เพราะมีกระแสจะนำพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 มาขึ้นครองราชย์และฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ ซึ่งหมายความว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ผ่านมานั้นไร้ผล
หลังจากที่ฝ่ายปฏิรูปหัวก้าวหน้าสามารถโน้มน้าวให้วุฒิสภาเห็นชอบกับการล้มล้างระบอบปกครองโดยคณะมนตรีได้แล้ว แผนการของการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 18 เดือนบรูแมร์ พ.ศ. 2342 (ค.ศ. 1799) (ตามระบบปฏิทินของสาธารณรัฐฝรั่งเศส) ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้ นโปเลียนจะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อรักษาความสงบในกรุงปารีสและในรัฐสภา จากนั้นจึงจัดการโยกย้ายที่ทำการรัฐสภาไปยังเมืองแซงต์-กลูด์ เพื่อไม่ให้เกิดการจลาจลในกรุงปารีสขณะก่อรัฐประหาร และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยอ้างเหตุผลว่าลัทธิฌาโกแบงกำลังเสี่ยงต่อภัยคุกคามถึงขั้นถูกล้มล้างได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น นับตั้งแต่พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) เป็นต้นมา รัฐสภาก็ถูกประชาชนชาวปารีสคุกคามมาโดยตลอด
เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 19 เดือนบรูแมร์ ที่เมืองแซงต์-กลูด์ ฝ่ายปฏิรูปหัวก้าวหน้าได้เตรียมการเกลี้ยกล่อมให้คณะมนตรีแห่งการปฏิวัติห้าคน ยกขบวนลาออกจากรัฐสภาแห่งชาติ รวมทั้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติห้าร้อยคนเลือกรัฐบาลใหม่ แต่แผนการดำเนินไปอย่างล่าช้าเนื่องจากแนวคิดนี้ไม่ได้รับฉันทามติจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะพวกฌาโกแบงสองคนไม่ยอมลาออก นโปเลียนเฝ้ารอและตัดสินใจเข้าแทรกแซงในที่สุด
เขาได้นำกำลังทหารเข้าไปในห้องประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติห้าร้อยคน ที่กำลังถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน และได้พยายามพูดโน้มน้าวให้สภาดังกล่าวยอมรับการโค่นล้มระบอบปกครองโดยมุขมนตรี แต่ไม่มีผู้แทนคนใดยอมรับฟัง การเข้าแทรกแซงดังกล่าวทำให้นโปเลียนถูกบังคับให้ลาออกจากรัฐสภาแห่งชาติ แต่สถานการณ์กลับตาลปัตรเมื่อมีผู้พยายามลอบแทงนโปเลียนในห้องประชุมสภา ฝ่ายได้เปรียบกลายเป็นฝ่ายนโปเลียนและลูเซียน โบนาปาร์ต น้องชายของนโปเลียนผู้ซึ่งเป็นผู้กุมบังเหียนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติห้าร้อยคนเอาไว้ ลูเซียนต้องการช่วยนโปเลียนจากสถานการณ์คับขัน จึงจัดการให้มีผู้ลอบแทงนโปเลียนเพื่อหาความชอบธรรมให้กองทัพเข้าแทรกแซง ภาพของผู้แทนที่โผล่มาจากทางหน้าต่างเพื่อลอบแทงนโปเลียนแพร่กระจายไปทั่ว นโปเลียนเป็นผู้ได้เปรียบในสถานการณ์นี้อย่างมาก เขาอ้างว่าถูกสมาชิกรัฐสภาใส่ร้ายว่าจะก่อรัฐประหารและเกือบจะถูกลอบสังหาร ทำให้เขาสามารถนำกองทัพเข้าบุกรัฐสภาที่เมืองแซงต์-กลูด และก่อรัฐประหารได้สำเร็จในที่สุด
แม้จะก่อรัฐประหารสำเร็จ แต่นโปเลียนก็ยังยึดติดกับรูปแบบการปกครองโดยกระบวนการทางกฎหมายอยู่ ในคืนวันที่ 19 เดือนบรูแมร์ หลังก่อรัฐประหารสำเร็จ คณะผู้แทนยังคงอยู่ที่แซงต์-กลูดเพื่อลงมติเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการสองชุดในการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แสดงให้เห็นได้ว่า นโปเลียนต้องการผลักดันให้มีระบอบการปกครอง ที่กิจการต่าง ๆ ของรัฐผ่านการลงมติจากคณะผู้แทนราษฎร
วันที่ 20 เดือนบรูแมร์ กงสุลสามคนได้รับการแต่งตั้งให้บริหารประเทศ ได้แก่ นโปเลียน, เอ็มมานูเอล โฌแซฟ ซีแยส์ และโรเฌ่ร์ ดือโกส์ นับเป็นจุดเริ่มต้นระบบการปกครองโดยคณะกงสุล
นโปเลียนได้ประกาศว่า "ประชาชนทั้งหลาย...การปฏิวัติยังคงยึดมั่นบนหลักการเดียวกันกับเมื่อมันได้เริ่มต้นขึ้น นั่นคือ การปฏิวัติสิ้นสุดลงแล้ว" "Citoyen,la Révolution est fixée aux principe qui l'avait commencée elle est finie!" ระบอบกงสุลได้ถูกจัดตั้งขึ้น เป็นระบอบการปกครองที่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือกงสุลสามคน ซึ่งอันที่จริงแล้ว มีเพียงกงสุลคนแรกเท่านั้นที่กุมอำนาจไว้อย่างแท้จริง ฝรั่งเศสเตรียมเข้าสู่ยุคใหม่ที่ประชาชนในชาติจะต้องฝากชะตาไว้ในมือของจักรพรรดิ

กลายเป็นจักรพรรดิ


นโปเลียนได้เริ่มการปฏิรูปนับตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการปกครองในระบอบกงสุล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา กระบวนการยุติธรรม การคลัง และระบบราชการ ประมวลกฎหมายแพ่งที่ฌอง-ฌากส์ เรฌีส์ เดอ กองบาเซแรส์เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นนั้น เป็นที่รู้จักในนามของกฎหมายนโปเลียน แห่งปี พ.ศ. 2347 (ค.ศ. 1804) และยังมีผลบังคับใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี กฎหมายแพ่งดังกล่าวนั้นมีรากฐานมาจาก กฎหมายในหมวดต่าง ๆ รวมถึงขนบธรรมเนียมหลากหลายจากระบอบปกครองในสมัยโบราณ ซึ่งนโปเลียนได้รวบรวมขึ้นใหม่
ผลงานทางราชการของนโปเลียนมีต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2357 (ค.ศ. 1814) เขาได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยม ธนาคารแห่งชาติฝรั่งเศส ระบบเงินฟรังก์แฌร์มินาล ที่ว่าการอำเภอ สภาที่ปรึกษาของรัฐ ริเริ่มการรังวัดพื้นที่ทั่วอาณาจักรฝรั่งเศส และจัดตั้งสมาคมเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งชาติ (L'ordre national de la Légion d'honneur)
ในปี พ.ศ. 2343 (ค.ศ. 1800) นโปเลียนได้นำทัพบุกออสเตรียและยึดครองได้สำเร็จ ทำให้ออสเตรียที่พ่ายต่อทัพของนโปเลียนที่สมรภูมิเมืองมาเร็งโก และต่อทัพของฌอง วิคตอร์ มารี โมโรที่เมืองโฮเฮนลินเดอร์ ต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาลูเนวิลล์ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2344 (ค.ศ. 1801) ซึ่งทำให้อังกฤษยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกอาเมียงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2344 ในกาลต่อมา ถ้าหากแม้อำนาจของนโปเลียนถูกสั่นคลอนภายหลังก่อรัฐประหาร ชัยชนะในสมรภูมิที่เมืองมาเร็งโกก็ทำให้สถานการณ์ของนโปเลียนแข็งแกร่งขึ้นเป็นอันมาก
เขาได้ส่งทหาร 70,000 นายไปยังเมืองแซงต์-โดมังก์ (ชื่อของเฮติที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในสมัยนั้น) ภายใต้การบังคับบัญชาของนาลพล ชาลล์ เลอแคลฺ เพื่อฟื้นฟูอำนาจของฝรั่งเศส หลังจากประสบความสำเร็จมาพอสมควร โดยเฉพาะจากการจับตูแซงต์ ลูแวร์ตูร์ (ผู้ซึ่งเสียชีวิตที่ฟอร์ เดอ จัวย์ ที่อำเภอดูบส์ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2346) กองทัพของเขาก็ถูกทำลายโดยการระบาดของไข้เหลือง เมื่อเห็นดังนี้ นโปเลียนจึงยอมขายรัฐลุยเซียนา ให้กับสหรัฐอเมริกา ดินแดนขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2343 (ค.ศ. 1800) (วันคริสต์มาสอีฟ) ได้มีการลอบวางระเบิดนโปเลียนที่ถนนซังต์-นิเคส ในกรุงปารีส ขณะที่ขบวนรถม้าของเขากำลังมุ่งหน้าไปโรงโอเปร่า รถม้าของกงสุลใหญ่ได้ควบผ่านพ้นจุดเกิดเหตุไปอย่างรวดเร็ว ระเบิดเกิดปะทุขึ้นช้ากว่าที่คาดทำให้กระจกรถม้าแตกกระจายเท่านั้น แต่สถานที่เกิดเหตุที่กลายเป็นซากปรักหักพังเต็มไปด้วยความโกลาหล มีผู้เสียชีวิตกว่าสิบคน โฌแซฟ ฟูเช ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในสมัยนั้น ได้พิสูจน์ว่าอาชญากรรมดังกล่าวเป็นฝีมือกลุ่มฝักใฝ่กษัตริย์ ในขณะที่นโปเลียนเชื่อว่าเป็นฝีมือของพวกฌาโกแบง การประหารดยุกแห่งอิงไฮน์เป็นหนึ่งในผลพวงตามมา
ในปี พ.ศ. 2345 (ค.ศ. 1802) นโปเลียนได้รื้อฟื้นระบบทาสในดินแดนอาณานิคมขึ้นอีกตามคำขอของภริยา อันได้แก่นางโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน (ชาวเบเก จากหมู่เกาะ มาร์ตีนีก) การฟื้นฟูดังกล่าวทำให้ระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของอาณานิคมโพ้นทะเลทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียกระเตื้องขึ้น ต้องรอถึงปี พ.ศ. 2391 (ค.ศ. 1848) กว่าความพยายามในการเลิกทาสอย่างเด็ดขาดจะประสบความสำเร็จ
หลังจากที่นโปเลียนได้ขยายอิทธิพลไปถึงสวิส ที่ได้จัดตั้งสถาบันกระจายอำนาจในปัจจุบัน และไปยังเยอรมนี กรณีพิพาทของมอลตาก็เป็นข้ออ้างให้อังกฤษประกาศสงครามกับฝรั่งเศสอีกครั้งในปีพ.ศ. 2346 (ค.ศ. 1803) รวมทั้งหนุนหลังฝ่ายฝักใฝ่ระบอบกษัตริย์ที่ต่อต้านนโปเลียน นโปเลียนได้ตอบโต้ด้วยแนวคิดในการบุกอังกฤษ และเพื่อข่มขวัญฝ่ายฝักใฝ่กษัตริย์ที่อาจจะกำลังลอบวางแผนโค่นล้มเขาอยู่ กงสุลใหญ่ได้สั่งประหารดยุกแห่งอิงไฮน์ เจ้าชายแห่งราชวงศ์บูร์บง การประหารเกิดขึ้นที่เมืองแวงแซนน์ชานกรุงปารีส ภายหลังการไต่สวนที่ถูกจัดฉากให้ดูเป็นไปตามกระบวนการ (ซึ่งก็พบว่าเจ้าชายไม่มีความผิด) มีเพียงอังกฤษเท่านั้นที่ทักท้วง ส่วนรัสเซียและออสเตรียนั้น สงวนท่าทีไม่ยอมทัดทาน ทำให้เกิดเสียงเล่าลือเกี่ยวกับนโปเลียนว่าเป็น โรแบสปิแยร์บนหลังม้า (โรแบสปิแยร์เป็นอดีตนักการเมืองฝรั่งเศสผู้โหดเหี้ยม) (ที่เกาะเซนต์เฮเลนา นโปเลียนยอมรับความผิดนี้ แม้ว่าตัลเลย์รองจะมีส่วนพัวพันด้วยก็ตาม) หลังจากได้ก่อความผิดนี้ต่อสาธารณรัฐ และเพื่อไม่ให้กงสุลใหญ่ขึ้นชื่อว่าก่อคดีสังหารบุคคลในราชวงศ์ซ้ำซ้อน นโปเลียนจึงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมพ.ศ. 2347 (ค.ศ. 1804)
ถ้าจะว่ากันไปแล้ว จักรวรรดิฝรั่งเศสเกิดขึ้นจากคำขอของวุฒิสภา นักประวัติศาสตร์สตีเฟน อิงลุนด์เชื่อในแนวความคิดที่ว่า การสถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิของนโปเลียนนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องสาธารณรัฐ หากนโปเลียนถูกโค่น กลุ่มคนต่างๆ จะล่มสลายไปกับเขาด้วย จักรพรรดิได้กลายมาเป็นสถาบัน ตอกย้ำความยั่งยืนของความเชื่อในการปกครองระบอบสาธารณรัฐ หากนโปเลียนตาย นั่นคือการสูญเสียผู้สืบทอดตำแหน่งที่มีหน้าที่ปกป้องประเทศจากความโกลาหล และนั่นหมายถึงความสูญเสียของสิ่งที่ได้มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (ความเสมอภาค อิสรภาพ และ ความยุติธรรม) การที่เงินเหรียญของทางการฝรั่งเศสจารึกคำว่า จักรพรรดินโปเลียน - สาธารณรัฐฝรั่งเศส นั้น มิใช่คำพูดเสียดสีแต่อย่างใด
การปกครองของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้กลายมาเป็นระบอบจักรวรรดินิยม ในภายหลังเท่านั้น เพื่อปกป้องสิ่งที่ได้มาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ธีขึ้นครองราชย์ของนโปเลียนมีขึ้น ภายใต้พระเนตรของสมเด็จพระสันตะปาปา ที่ไม่ได้รับเกียรติให้สวมมงกุฎให้นโปเลียน แต่ถูกลดบทบาทให้แค่มาร่วมให้พรแก่จักรพรรดิฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ก็นับเป็นโอกาสดีในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับวาติกัน การลงนามของกงสุลใหญ่ในปี พ.ศ. 2344 (ค.ศ. 1801) นั้น มีเนื้อหายอมรับว่าคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก เป็นศาสนาของชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ศาสนาประจำชาติ นับแต่นั้นเป็นต้นมา นักบวชจะต้องอยู่ในความควบคุมของรัฐ ในการฟื้นฟูนิกายโรมันคาทอลิก ทำให้เกิดความกังขาว่า เป็นไปได้หรือที่จะเกิดการฟื้นฟูนิกายโรมันคาทอลิก ภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปีหลังจากที่หลวงยึดทรัพย์สินของโบสถ์ นโปเลียนสงวนท่าทีต่อหน้าสมเด็จพระสันตะปาปา เขาออกไปต้อนรับพระสันตะปาปาที่ป่าฟงแตนโบล โดยขี่ม้าไปและสวมชุดล่าสัตว์ ทำให้ฉากการพบปะดังกล่าวมีลักษณะเหมือนการพบกันโดยบังเอิญ และเช่นเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2347 จักรพรรดิมิได้เป็นผู้เดินทางไปประกอบพิธีขึ้นครองราชย์ที่กรุงโรม ตามที่จักรพรรดิเยอรมันเคยกระทำ แต่เป็นพระสันตะปาปาที่ถูกเชิญมายังกรุงปารีส ราวกับว่าเป็นนักบวชที่เดินทางมาแสวงบุญ
เราจะเห็นได้ว่า การที่นโปเลียนเข้าหาศาสนจักรนั้น เป็นไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะอย่าง (สร้างสัมพันธ์ระหว่างคาทอลิกกับฝรั่งเศส และทำให้จักรพรรดิมีฐานะเทียบเท่ากับกษัตริย์อย่างถูกต้อง) และเมื่อพระสันตะปาปามีท่าทีกระด้างกระเดื่องต่อคำสั่งของนโปเลียน เขาก็ไม่รอช้าที่จะขังพระสันตะปาปาไว้ในพระราชวังฟงแตนโบล

จักรพรรดิเรืองอำนาจ


ในปี พ.ศ. 2347 (ค.ศ. 1804) ยังไม่ถึงเวลาแห่งการออกรบครั้งใหญ่เพื่อยึดครองดินแดน และจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งยึดติดกับแนวความคิดว่า สันติภาพอย่างถาวรจะมีได้ ต่อเมื่อปราบสหราชอาณาจักรลงได้เท่านั้น ได้ร่วมกับพลเรือเอกลาตุชเชอ-เตรวิลล์ (ผู้ซึ่งเสียชีวิตก่อนจะกระทำการสำเร็จ) วางแผนบุกอังกฤษ ซึ่งเป็นแผนที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จากการรบที่ยุทธนาวีทราฟัลการ์ กองเรือผสมฝรั่งเศส-สเปนที่บัญชาการโดย พลเรือโท วีลเนิฟว์ ถูก พลเรือโท ลอร์ด เนลสัน แห่งราชนาวีอังกฤษตีจนแตกพ่าย ทำให้สหราชอาณาจักร กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเล นับแต่นั้นจวบจนในอีกหนึ่งศตวรรษต่อมา ในปีเดียวกันนั้นเอง (พ.ศ. 2348) ได้มีการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมที่สามในยุโรปขึ้นเพื่อต่อต้านจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทำให้จักรพรรดิผู้ซึ่งกำลังบัญชาการ จากเมืองบูลอญในฝรั่งเศส เพื่อเตรียมการบุกบริเตนใหญ่ ต้องเผชิญกับสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นในอีกฟากหนึ่งของทวีปยุโรปอย่างกะทันหัน จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้รับสั่งให้ตั้งรับโดยทันที โดยบังคับให้นำทัพใหญ่ออกเดินเท้า และสัญญาว่าจะนำชัยชนะ ต่อพวกออสเตรียและรัสเซียมาให้จากยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น"สงครามสามจักรพรรดิ"
ในปี พ.ศ. 2349 (ค.ศ. 1806) ปรัสเซียได้ก่อเหตุพิพาทครั้งใหม่ ซึ่งเป็นแผนการที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ยังชื่นชม ในความรวดเร็วของการนำแนวคิดเรื่อง"จิตวิญญาณแห่งโลก"ของเฮเกลมาใช้ แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ก็สามารถกวาดล้างกองทัพปรัสเซีย ที่การรบในสมรภูมิอิเอนาได้ในที่สุด (ซึ่งได้ความยินดีเป็นสองเท่าจากชัยชนะของดาวูต์ ที่เมืองโอเออสเต็ดท์ในช่วงเวลาเดียวกัน) แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ยังไม่หยุดแค่นั้น ในปีถัดมาพระองค์ได้ทรงเดินทัพข้ามโปแลนด์และสิ้นสุดลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเมืองทิลสิทในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2350 (ค.ศ. 1807) กับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ซาร์แห่งรัสเซีย อันเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการแบ่งดินแดนยุโรปกันระหว่างฝรั่งเศสและรัสเซีย สองมหาอำนาจในขณะนั้น เพื่อเป็นการข่มขวัญศัตรู (ฝรั่งเศสครองยุโรปตะวันตก และรัสเซียครองยุโรปตะวันออก โดยมีโปแลนด์อยู่ตรงกลาง)
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ผู้ซึ่งได้รับการศึกษาจากโรงเรียนและครูบาอาจารย์ในระบอบเก่า ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายทหารในกองทัพหลวง ได้ทำลายกฎเกณฑ์ดั้งเดิมทางการทหารอย่างสิ้นเชิง ด้วยการไม่ริเริ่มสงครามที่กินเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษในการรบด้วยพลทหาร 30 ถึง 50,000 นาย แต่มองหาการรบที่สามารถเผด็จศึกได้อย่างเด็ดขาด ใช้ทหารกว่า 100,000 นายหากจำเป็น นั่นคือจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ไม่ต้องการจะเป็นผู้นำในสมรภูมิเท่านั้น แต่ต้องการจะบดขยี้ศัตรูอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2351 (ค.ศ. 1808) จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้ทรงสร้างระบบศักดินาของจักรวรรดิฝรั่งเศสให้แก่กลุ่มชนชั้นสูงที่แวดล้อมพระองค์ ไม่นานต่อมา บรรดานายพันและนายพลของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ต่างได้รับฐานันดรเป็นท่านเคานต์แห่งจักรวรรดิ เจ้าชายแห่งเนอชาแตล ดยุกแห่งโอเออสเต็ดท์ ดยุกแห่งมองต์เบลโล ดยุกแห่งดันต์ซิก ดยุกแห่งเอลชิงเกน กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ ฯลฯ
จากกรุงอัมสเตอร์ดัมถึงกรุงโรม จักรวรรดิของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มีประชากรรวมทั้งสิ้นกว่า 70 ล้านคน โดยมีเพียง 30 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นชาวฝรั่งเศส 

ปฏิบัติการที่คาบสมุทรไอบีเรีย ออสเตรีย และรัสเซีย


เนื่องด้วยแนวคิดของอังกฤษที่จะกีดกันเรือสินค้าฝรั่งเศส จักพรรดินโปเลียนที่ 1 เลยพยายามจะบังคับให้เกิดการกีดกันภาคพื้นทวีป โดยมีวัตถุประสงค์จะหยุดยั้งกิจกรรมทางการพาณิชย์ของอุตสาหกรรมอังกฤษ โปรตุเกส อันเป็นประเทศพันธมิตรของอังกฤษมาเป็นเวลาช้านาน ปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญานี้ จักพรรดินโปเลียนที่ 1 จึงทรงขอความช่วยเหลือจากสเปนในการบุกโปรตุเกส ในที่สุดพระองค์ก็ได้รุกรานประเทศสเปน และตั้งโฌแซฟ โบนาปาร์ต น้องชายขึ้นเป็นราชาปกครองที่นั่น และโปรตุเกสก็ถูกจักพรรดินโปเลียนที่ 1 รุกรานเช่นกันในปี พ.ศ. 2350 (ค.ศ. 1807) ประชากรส่วนหนึ่งของสเปนที่คลั่งใคล้ในกลุ่มนักบวชได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านชาวฝรั่งเศส ในไม่ช้า กองพลทหารราบฝีมือเยี่ยมของอังกฤษ บัญชาการโดยว่าที่ดยุกแห่งเวลลิงตัน (อาร์เธอร์ เวลสลีย์) ก็ได้เคลื่อนทัพสู่สเปน โดยผ่านโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2351 (ค.ศ. 1808) และด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มผู้รักชาติชาวสเปน ก็ได้ผลักดันกองทัพฝรั่งเศสออกจากคาบสมุทรไอบีเรีย ในขณะที่กองทหารที่ฝีมือดีที่สุดของฝรั่งเศสกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ในสเปน ออสเตรียก็ได้บุกฝรั่งเศสอีกครั้งจากแถบเยอรมนี และถูกปราบลงอย่างราบคาบในยุทธการวากร็อง จอมพลลานส์ เพื่อนและผู้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ของจักรพรรดิจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้ถึงแก่กรรมที่เมืองเอสลิง
หลังจากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย ได้รับการหนุนหลังจากชนชั้นสูงในรัสเซียที่เข้าข้างฝ่ายอังกฤษ ก็ได้ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับจักพรรดินโปเลียนที่ 1 ในการโจมตีสหราชอาณาจักร จักพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งเชื่อว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยงสงครามกับอังกฤษได้ ได้กรีฑาทัพบุกรัสเซียในปี พ.ศ. 2355 (ค.ศ. 1812) ทัพใหญ่ของจักพรรดินโปเลียนที่ 1 ประกอบด้วยกองทัพพันธมิตรอิตาลี เยอรมนี และออสเตรียมีขนาดมหึมา มีทหารกว่า 600,000 นายที่ร่วมเดินทัพข้าม แม่น้ำนีเมน
พวกรัสเซียที่บัญชาการโดยมิคาอิล อิลลาริโอโนวิทช์ โกเลนิทเชฟ-คูตูโซฟ ได้ใช้ยุทธวิธี scorched earth โดยถอยร่นให้ทัพฝรั่งเศส]ามเข้ามาให้รัสเซีย การรบที่มอสโกเมื่อวันที่ 12 กันยายน ไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ แม้ว่าพวกรัสเซียจะเป็นฝ่ายทิ้งชัยภูมิ แต่ทั้งสองฝ่ายก็เสียทหารไปในจำนวนเท่า ๆ กัน
วันรุ่งขึ้นหลังจากกองทัพฝรั่งเศสเคลื่อนทัพเข้ากรุงมอสโก ก็พบว่ามอสโกกลายเป็นเมืองร้าง เมื่อฝรั่งเศสตายใจ พวกรัสเซียได้จุดไฟเผากรุงมอสโกในทันที ทำให้จักพรรดินโปเลียนที่ 1 ต้องถอยทัพ ฤดูหนาวอันโหดร้าย กำลังจะมาเยือนดินแดนแถบรัสเซียในอีกเพียงไม่กี่วัน จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ที่คาดว่าจะมีความเคลื่อนไหวจากพระเจ้าซาร์ได้ชะลอการถอยทัพไปจนถึงนาทีสุดท้าย
กองทัพฝรั่งเศสได้ถอยทัพอย่างทุลักทุเลไปทางเยอรมนี ในช่วงฤดูหนาวของรัสเซีย ผ่านดินแดนที่เคยเป็นทางผ่านตอนขามาและถูกโจมตีเสียย่อยยับ ในจำนวนทหารเกือบ 500,000 นายที่เข้าร่วมรบ มีเพียงหมื่นกว่านายที่สามารถข้ามแม่น้ำเบเรซินากลับมาได้ แถมยังถูกกองทัพรัสเซียดักโจมตี กองทัพใหญ่ของจักพรรดินโปเลียนที่ 1 ต้องถึงกาลล่มสลายเนื่องด้วยไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ
หลังจากที่ได้ใจจากข่าวความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในรัสเซีย กษัตริย์ยุโรปหลายพระองค์ได้แปรภักดิ์จากฝ่ายจักพรรดินโปเลียนที่ 1 และยกทัพมารบกับฝรั่งเศส จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งถูกคนในกองทัพของพระองค์เองทรยศ ได้พบกับความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงที่ยุทธการไลพ์ซิก หรือที่รู้จักในนามของ สงครามนานาชาติ ซึ่งกองทัพฝรั่งเศส 200,000 นายปะทะกับกองทัพพันธมิตร 500,000 นาย (รัสเซีย ออสเตรีย เยอรมนี สวีเดน) จอมพลโจเซฟ แอนโทนี โปเนียโตวสกี เจ้าชายแห่งโปแลนด์และพระราชนัดดาของราชาองค์สุดท้ายของโปแลนด์ ได้สิ้นพระชนม์ลงในการรบครั้งนี้ หลังจากพยายามนำทหารของพระองค์ข้ามแม่น้ำเอลสเตอร์ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 100,000 คน

ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส


ในปี พ.ศ. 2357 (ค.ศ. 1814) สหราชอาณาจักร รัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรีย ได้ร่วมเป็นพันธมิตร แม้ว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ 1จะมีชัยอย่างไม่น่าเชื่อในการรบที่ ฌองโปแบร์ และมองต์มิไรล์ ด้วยการนำทัพทหารใหม่ขาดประสบการณ์ (กองทัพมารี หลุยส์ ที่ตั้งชื่อตามอาร์คดัชเชสมารี หลุยส์แห่งออสเตรีย พระมเหสีในจักรพรรดินโปเลียนที่ 1) กรุงปารีสถูกตีแตกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม และเหล่าจอมพลได้บังคับให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1สละราชบัลลังก์
จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทรงคิดว่าฝ่ายพันธมิตรจะแยกเขาออกจากจักรพรรดินี และจักรพรรดินโปเลียนที่ 2 กษัตริย์แห่งโรม พระโอรสของพระองค์ ดังนั้น ในคืนวันที่ 12 และเช้าวันที่ 13 เมษายน จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้เสวยยาพิษไปในปริมาณที่จะปลิดชีพพระองค์เองได้ นั่นคือ ฝิ่นผสมกับน้ำเล็กน้อย มีคนบอกพระองค์ว่าส่วนผสมดังกล่าวมีพิษมากพอที่จะฆ่าคนได้ถึงสองคน
พระองค์เลือกที่จะฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้เพราะเชื่อว่าศพของพระองค์จะต้องถูกประจานให้คนฝรั่งเศสดู พระองค์ต้องการให้ข้าราชบริพารของพระองค์จำพระพักตร์ที่เรียบเฉยได้ เช่นเดียวกับที่เคยเห็นพระองค์ในสมรภูมิ
หลังจากผ่านพ้นเวลาเที่ยงคืนมาอย่างทุกข์ทรมาน จักรพรรดิก็บ่นว่าส่วนผสมฝิ่นของพระองค์ออกฤทธิ์ช้าไป
พระองค์ได้ประกาศต่ออาร์มองด์ ออกุสตัง ลุยส์ เดอ โกลังกูร์ ว่า "เราตายด้วยความทุกข์ทรมาน เราทุกข์ที่มีรัฐธรรมนูญที่ยืดชีวิตออกไปและทำให้ข้าจบชีพลงช้ากว่าเดิม!"
อาการคลื่นเหียนอาเจียนของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 รุนแรงขึ้นทุกทีจนไม่อาจกลั้นอาเจียนไว้ได้อีกต่อมา จนกระทั่งอาเจียนออกมาอย่างรุนแรง พระองค์ทรงทุกข์ทรมานอย่างไม่สิ้นสุดจนกระทั่งนายแพทย์อีวองมาถึง จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ได้ทรงขอให้แพทย์ให้ยาพิษอีกขนานเพื่อจะได้สวรรคตเสียที แต่นายแพทย์ปฏิเสธโดยกราบทูลว่าเขาไม่ใช่ฆาตกรและเขาจะไม่ยอมทำในสิ่งที่ขัดต่อสามัญสำนึกของตนอย่างเด็ดขาด
ความทรมานของจักรพรรดิยังคงดำเนินต่อไป โกลังกูร์ ออกจากห้องและบอกให้ข้ารับใช้ส่วนพระองค์และข้าราชบริพารฝ่ายในเงียบเสียง จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 เรียกโกลังกูร์และบอกว่าพระองค์ยอมตายเสียดีกว่ายอมลงนามในสนธิสัญญา
ยาพิษได้คลายฤทธิ์ลง และพระองค์ก็สามารถดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ในที่สุด แต่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเหตุใดองค์จักรพรรดิจึงรอดชีวิตมาได้จากการกลืนฝิ่นเข้าไปในปริมาณขนาดนั้น ไม่กระเพาะของพระองค์ขย้อนออกมา ไม่ก็ยาพิษได้เสื่อมฤทธิ์ลงไปเอง
พระองค์ต้องไปลี้ภัยที่เกาะเอลบา ตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาฟองเตนโบล ยังทรงดำรงพระยศเป็นจักรพรรดิ แต่ทรงปกครองได้เฉพาะบนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้เท่านั้น


ผลงานของนโปเลียน


ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่

ในช่วงที่เป็นจักรพรรดิ


      ครอบครัว

นโปเลียนแต่งงานสองครั้ง :
  • เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2339 (ค.ศ. 1796) (เมื่อครั้งยังเป็นนายพลก่อนออกปฏิบัติการในอียิปต์) ได้เข้าพิธีสมรสกับนางโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แน แม่ม่ายลูกติดชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเบเก จากหมู่เกาะมาร์ตีนีก ผู้ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศสในพิธีขึ้นครองราชย์ของนโปเลียน เนื่องจากนางมีอายุมากแล้วจึงไม่สามารถมีโอรสธิดาให้กับนโปเลียนได้ ซึ่งการที่องค์จักรพรรดิไร้ซึ่งผู้สืบทอดบัลลังก์ดังกล่าวถูกมองว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของจักรวรรดิ การสมรสครั้งนี้จึงจบลงด้วยการหย่าร้าง
  • เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2353 (ค.ศ. 1810) ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรส (โดยฉันทะ) กับอาร์คดัชเชสมารี หลุยส์แห่งออสเตรีย เพื่อเป็นการสานสัมพันธไมตรีและหลีกเลี่ยงสงครามกับ อาร์คดัชเชสมารี หลุยส์ได้ให้กำเนิดพระราชโอรสหนึ่งพระองค์ ได้แก่ นโปเลียนที่ 2 (ประสูติ 20 มีนาคม พ.ศ. 2354 สิ้นพระชนม์ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2375) ทรงได้รับการแต่งตั้งจากนโปเลียนให้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์แห่งกรุงโรม ดยุกแห่งไรช์ชตาดท์ แต่เรามักจะเรียกพระองค์ว่านโปเลียนที่ 2 เสียมากกว่า แม้ว่าพระองค์จะไม่เคยขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองฝรั่งเศสอย่างแท้จริงเลยก็ตาม ถ้าจะว่ากันตามทฤษฎีแล้ว รัชสมัยของพระองค์กินระยะเวลาเพียง 15 วัน ระหว่างวันที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ถูกบังคับให้สละพระราชบัลลังก์ครั้งแรก จนกระทั่งการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงในปี พ.ศ. 2357 พระฉายานามว่า เหยี่ยวน้อยนั้นมาจากบทกวีของวิคเตอร์ มารี อูโก ที่ประพันธ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2395 (ค.ศ. 1852)
 พิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และจักรพรรดินีโฌเซฟีน ในมหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส วาดโดย ฌัก-หลุยส์ ดาวีด

      พี่น้องของนโปเลียน

  •    กาโรลีน โบนาปาร์ต
  •    เอลิซ่า โบนาปาร์ต
  •    เยโรม โบนาปาร์ต
  •    โจเซฟ โบนาปาร์ต
  •    หลุยส์ โบนาปาร์ต
  •    ลูเซียง โบนาปาร์ต
  •    เปาลีน โบนาปาร์ต

     เชื้อสายของนโปเลียนที่โด่งดัง